การทำงานด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและผลการทำงานที่สำคัญคือ
1.การสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค/ประชาชนในการพัฒนาระบบสุขภาพ ผ่านรูปแบบการทำงานของศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เริ่มต้นทำงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนในระดับจังหวัดร่วมกับ 27 ศูนย์โดยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นผู้สนับสนุน โดยเริ่มจากการทำกิจกรรมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพให้กับกลุ่มเป้าหมาย การเชื่อมร้อยเครือข่ายภาคประชาชน 9 ด้านและเครือข่ายภาคประชาชนต่างๆในการมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านระบบหลักประกันสุขภาพ การรับเรื่องร้องเรียนและช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากการรับบริการสาธารณสุข ตลอดจนการทำงานร่วมกับกองทุนสุขภาพตำบลในจังหวัดพะเยาเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการพัฒนากองทุนสุขภาพ
2. การขยายประเด็นการทำงานด้านสุขภาพสู่ประเด็นผู้บริโภคที่หลากหลาย
ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ภายใต้มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ได้มีการขยายประเด็นการทำงานที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบที่มีต่อผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น
ประเด็นอาหารปลอดภัยที่พัฒนาให้เกิดกลไกการเฝ้าระวังด้านอาหารที่ปลอดภัยของผู้บริโภค
โครงการสนับสนุนสิทธิผู้ใช้บริการรถสาธารณะ เพื่อทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจเลือกใช้บริการได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และมีส่วนร่วมในการพัฒนาและผลักดันนโยบายรวมถึงข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่จำเป็นเพื่อก่อให้เกิดการบริการที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และราคาค่าบริการที่เป็นธรรม
โครงการจำลององค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ที่ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคในจังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่
โครงการศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมระดับจังหวัด ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในปีที่4 ที่จะทำให้ผู้บริโภคมีความตื่นตัวในสิทธิผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งสร้างภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายนักวิชาการ เครือข่ายทนายอาสา ได้เข้ามาร่วมงานเพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีความเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาของตนเองเพิ่มมากขึ้น
โครงการรณรงค์การใช้ยาชื่อสามัญ
3. การเป็นองค์กรประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคระดับภาคเหนือ
นอกจากการทำงานระดับจังหวัดแล้ว มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนายังรับผิดชอบเป็นกลไกประสานงานระดับภาคเหนือของเครือข่ายผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน ที่มีจำนวน 18 ศูนย์ ในการทำงานสนับสนุนและเชื่อมร้อยการทำงานของศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพระดับประเด็นและจังหวัดให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมีการประสานงานกับองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทำงานระบบหลักประกันสุขภาพเข้ามาสนับสนุนการทำงานของศูนย์ประสานงานระดับจังหวัด/ประเด็นได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งการเป็นกลไกประสานงานระดับภาคของเครือข่ายศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ที่มีการดำเนินงานในพื้นที่ 7 จังหวัดจำนวน 8 ศูนย์ ที่สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพให้กับทีมทำงานระดับจังหวัดมีความสามารถในการทำงานผู้บริโภค รวมทั้งร่วมเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนประเด็นเชิงนโยบายระดับภาคที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม
4.การผลักดันนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
ได้ร่วมกับองค์กร/เครือข่ายผู้บริโภคทั้งระดับประเทศและระดับภาค ในการเคลื่อนไหวประเด็นเชิงนโยบายสาธารณะในเรื่องต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัจจัย 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของยาและระบบสุขภาพ อาหาร โทรคมนาคมและการสื่อสาร รวมทั้งร่วมสนับสนุนให้มีการตั้งองค์การอิสระของผู้บริโภค ตาม มาตรา 57 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ในมาตรา 61 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เพื่อเป็นกลไกระดับชาติในการคุ้มครองและสนับสนุนผู้บริโภค หรือแม้แต่นโยบายระดับประเทศที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้บริโภคในระยะยาว เช่น นโยบายการค้าเสรีFTAกับEU นโยบายการเป็นศูนย์กลางการแพทย์นานาชาติ (Medical Hub) เป็นต้น