4 ปี สร้างไม่เสร็จ! มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือผู้เสียหายจากคอนโดฯ 5 โครงการ ลั่น! เตรียมยื่นฟ้องหากผู้ประกอบการเบี้ยวเจรจา

 

เมื่อ 28 มิ.ย.65 ผู้เสียหายนับร้อยคนจากโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม 4 ปีแต่สร้างไม่เสร็จรวมพลังเข้าร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยมีนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วยทีมกฎหมายมาร่วมให้ข้อแนะนำ โดยกลุ่มผู้เสียหายฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อขอให้ช่วยดำเนินการทางกฎหมายกับ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งก่อสร้าง 5 โครงการ เป็นคอนโดฯ ในย่านต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพ ได้แก่

1) โครงการ RISE Phahon – Inthamara : ขณะนี้สร้างเสร็จถึงชั้น 2 แต่บอกว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 31 ธันวาคม 2564

2) โครงการ The Excel ลาซาล 17 : ขณะนี้ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่บอกว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 31 ธันวาคม 2564

3) โครงการ The Excel Hideaway รัชดาห้วยขวาง : ขณะนี้ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ สร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ : 31 ธันวาคม 2562

4) โครงการ The Excel Hideaway สุขุมวิท 50 : ผู้เสียหายแจ้งขอยกเลิกสัญญาตั้งแต่ก่อนก่อสร้างแล้วเสร็จ (ซึ่งเดิมแจ้งว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์มีกำหนด กุมภาพันธ์ 2563)

ซึ่งวันนี้ มีตัวแทน มาแค่ 4 โครงการ ส่วน 5. โครงการ Impression เอกมัย : ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง แต่บอกว่าแต่สร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ เดือนมิถุนายน 2565 วันนี้ ไม่มีผู้เสียหายเดินทางมาร่วมร้องเรียน

 

รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวสรุปความเสียหายจากผู้ยื่นร้อง มีทั้ง กรณีที่โครงการยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา บางโครงการยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง หรือบางโครงการก่อสร้างได้เพียง 2 ชั้น โดยเกินกำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาแล้ว จนผู้บริโภคส่งหนังสือขอยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนทั้งหมด แต่กลับไม่ได้รับการตอบกลับจากบริษัท และมีบางกรณีปัจจุบันโครงการได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้บริโภคได้แจ้งขอยกเลิกสัญญาตั้งแต่ครบกำหนดการก่อสร้างแล้ว หรือบางกรณีได้ไปแจ้งร้องเรียนที่หน่วยงานอื่นๆ แล้วมีการเจรจา แต่บริษัทฯ ก็ไม่มาเจรจา มีเพียงหนังสือชี้แจงว่า จะแจ้งผลภายใน 30 วัน หรือ ผู้บริโภคบางรายได้ดำเนินการฟ้องคดีด้วยตนเองแล้ว และมีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันซึ่งบริษัทฯ ตกลงจะผ่อนชำระเงินคืนให้ แต่สุดท้ายก็ผิดนัดไม่คืนเงินให้

 

ทั้งนี้ ได้ข้อสรุปว่า เบื้องต้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะดำเนินการในขั้นตอนเชิญผู้ประกอบการมาเจรจาไกล่เกลี่ย และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ ดังนั้น หากไม่มาตามนัด “จะเปิดศึกใหญ่ ด้วยการยื่นฟ้องต่อศาล”เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการบังคับคดียึด-อายัดทรัพย์ เพื่อนำเงินมาเฉลี่ยจ่ายคืนให้ผู้เสียหาย”

 

ส่วนกลุ่มผู้เสียหายฯ ที่มายื่นเรื่องร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในวันนี้ ได้ข้อสรุปตรงกัน ว่า “ต้องการยกเลิกสัญญา” พร้อมเรียกเงินคืนทั้งหมด ดังนั้น มูลนิธิฯ จึงขอให้ผู้บริโภคที่ประสงค์จะร้องเรียนในกรณีดังกล่าวเตรียมข้อมูลเพื่อประกอบการร้องเรียนให้ครบถ้วน เช่น สัญญาจอง, ข้อมูลการชำระเงินตามสัญญาหรือสลิปโอนเงิน, หนังสือบอกเลิกสัญญา, ภาพถ่ายคอนโดที่ซื้อ และสำเนาบัตรประชาชน เป็นต้น และให้กรอกแบบฟอร์มร้องเรียนของมูลนิธิฯ โดยกำหนดรับเอกสารจนถึง 1 กรกฎาคมนี้ ผู้เสียหายสามารถส่งมาได้ทุกช่องทาง ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 โทรศัพท์ 02 248 3737

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่ https://ffcthailand.org/news/Condo-notbuilt-2022

 

ที่มา: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2566 มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา | Copyright © 2023, All rights reserved. Phayao Development Foundation (PDF), Thailand.