ปัจจุบัน หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก หากมีการจัดกิจกรรมที่ต้องใช้รถทัศนาจร จะมีประเภทรถทัศนาจรที่ให้บริการที่หลากหลาย ทั้งรถบัสขนาดเล็ก ขนาดกลาง ไปถึงรถบัสขนาดใหญ่ หรือรถบัส 2 ชั้น รถตู้เช่าทัศนาจร ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเช่นกันที่เป็นที่นิยมทั้งการจัดจ้างจากบริษัททัวร์ จัดจ้างส่วนบุคคล ทั้งนี้ในการใช้รถทัศนาจรส่วนมากจะเลือกประเภทและขนาดรถที่เหมาะสมกับจำนวนผู้นั่ง ราคาในการใช้บริการ และความสะดวกสบายในการเดินทาง โดยไม่ค่อยได้คำนึงความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับสภาพความพร้อมของตัวรถในการใช้งาน สภาพความพร้อมของคนขับที่พร้อมให้บริการ เส้นทางในการเดินทางที่ไม่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อผู้ร่วมเดินทาง รวมทั้งการใช้สัญญาเช่ารถที่เป็นธรรมหากเกิดอุบัติเหตุจะสามารถเยียวยาและช่วยเหลือผู้เสียหายได้อย่างเป็นธรรม
จากสถานการณ์ความรุนแรงของอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา อุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ หรือรถโดยสารสองชั้นที่มีผู้นิยมเลือกใช้ในทั่วทุกภูมิภาค ถือเป็นสถานการณ์ปัญหาสำคัญที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหากเป็นการให้บริการในเส้นทางที่มีอัตราความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสองชั้น เช่น เส้นทางตาก-แม่สอด เส้นทางพิษณุโลก-เพชรบูรณ์ เส้นทางกบินทร์บุรี-ปักธงชัย เส้นทางสายเอเชีย ช่วงอ่างทอง- สิงห์บุรี-ชัยนาท เส้นทางรังสิต-สระบุรี เส้นทางกระบี่-พังงา และ เส้นทางเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน เป็นต้น ซึ่งจากการรวบรวมสถิติอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะที่เป็นรถสองชั้นในปี 2560 ตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤศจิกายน โดยเครือข่ายเฝ้าระวังรถโดยสารสาธารณะ พบว่า มีอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถโดยสารสองชั้นทั่วประเทศมากถึง 60 ครั้ง แบ่งเป็นรถโดยสารประจำทาง 47 ครั้ง และรถโดยสารไม่ประจำทาง 13 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 108 คน และเสียชีวิต 16 คน สอดคล้องกับข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสองชั้นย้อนหลังตั้งแต่ปี 2555-2559 ที่พบว่า รถโดยสารสองชั้นมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุเฉลี่ยที่ 60 คันต่อปี
จากปัญหาที่เกิดขึ้น มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ภาคเหนือ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการและคุณภาพมาตรฐานปลอดภัยของรถโดยสารโดยเฉพาะรถทัศนาจรที่เป็นรถสองชั้นในปัจจุบันที่จะหลีกเลี่ยงไม่ใช้รถโดยสาร 2 ชั้นในเส้นทางเสี่ยง เพื่อป้องกันปัญหาและลดการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต อีกทั้งเห็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นองค์กรสำคัญที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ หากมีความรู้ ความเข้าใจในสถานการณ์ปัญหาและเห็นความสำคัญของการพัฒนารถโดยสารสาธารณะที่ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น จะสามารถสร้างแนวทางในการสร้างความปลอดภัยในการใช้บริการรถโดยสารสองชั้นและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่มากขึ้น จึงเป็นที่มาของการจัดเวทีสร้างเวทีสร้างความร่วมมือ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการใช้รถโดยสารสาธารณะที่เป็นรถทัศนาจรให้ปลอดภัย