สภาองค์กรของผู้บริโภค เผยเรื่องร้องเรียนผู้บริโภค 4 เดือนแรก ปี 2565 เนื่องในวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย พบ ปัญหาเคลมประกันโควิด เป็นปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาเป็นอันดับ 1
เมื่อ 29 เมษายน 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยสถิติเรื่องร้องเรียน ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง เมษายน 2565 มีจำนวนผู้ร้องเรียนจำนวนทั้งหมด 6,705 ราย
ปัญหาที่มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง คือ ด้านการเงินการธนาคาร มีผู้ร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 5,749 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 85.74 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน ทำให้ผู้บริโภคหลายรายซื้อประกันภัยเพื่อเป็นหลักประกันให้ตัวเองในกรณีต้องพักรักษาตัวและชดเชยรายได้ที่เสียไปขณะติดเชื้อ
แต่ปัญหาที่ผู้บริโภคกว่าห้าพันรายพบ คือ บริษัทประกันภัยหลายแห่งจ่ายค่าสินไหมทดแทนผู้บริโภคล่าช้ากว่าที่กำหนด บางแห่งปฏิเสธและไม่ยอมจ่ายเคลมให้อีกด้วย ขณะเดียวกันบริษัทประกันภัยบางแห่งประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจนถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ ทำให้ผู้บริโภคที่มีกรมธรรม์กับบริษัทเหล่านั้นได้รับผลกระทบกันเป็นจำนวนมาก
อันดับสอง คือ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป มีผู้ร้องเรียนทั้งหมด 872 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 13.01 ส่วนใหญ่เป็นปัญหาซื้อของไม่ได้ของ หลอกขายของไม่ได้มาตรฐาน รวมไปถึงปัญหาการยกเลิกจัดคอนเสิร์ตแต่ไม่คืนเงินค่าบัตรให้ เป็นปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาที่ผู้จัดงานอย่างบริษัท ไอเอ็มอี โปรดักชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเลื่อนจัดคอนเสิร์ต ‘2020 KIM JAE JOONG ASIA TOUR CONCERT IN BANGKOK’ ออกไป เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด19
แต่ขณะนี้ยังไม่คืนเงินค่าบัตรคอนเสิร์ตให้กับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมายังมีผู้ร้องเรียนกรณีสั่งซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่งไปจากแอปพลิเคชัน ‘GinzaMall’ กว่า 300 ราย บางรายทำเรื่องขอคืนเงินแต่กลับไม่ได้รับเงินคืนและยังไม่มีการติดต่อมาหาผู้บริโภคอีกด้วย
อันดับสาม คือ ด้านบริการสุขภาพ มีผู้ร้องเรียนทั้งหมด 47 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 0.70 โดยเป็นประเด็นที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ผู้ที่ติดเชื้อโควิด19 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใดก็ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และกำหนดให้โรงพยาบาลไปเรียกเก็บเงินกับกองทุนเจ็บป่วยฉุกเฉินแทน แต่ยังมีผู้ถูกเรียกเก็บเงิน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนเหล่านั้นอ้างว่าไม่ได้เข้าร่วมสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ ตามประกาศดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องที่โรงพยาบาลปฏิเสธให้เข้ารับการรักษาจากการติดเชื้อโควิด19
ส่วนเรื่องร้องเรียนที่เหลือ อีก 37 ราย มีทั้งปัญหาความไม่เป็นธรรมในการทำสัญญาซื้อขายบ้านหรืออาคารชุดต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาไม่คืนเงินค่าตั๋วโดยสารให้ผู้บริโภคจากการยกเลิกเที่ยวบินของสายการแอร์เอเชีย โดยอ้างสถานการณ์โควิด19
ทั้งนี้ จากปัญหาที่มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาในประเด็นการเคลมประกัน โดยเฉพาะกรมธรรม์เกี่ยวกับโควิดนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสื่อให้บริษัทประกันภัย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลบริษัทประกันภัย เร่งจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้ผู้บริโภคที่มีกรมธรรม์ บางรายได้รับเงินสินไหมคืนแล้ว ขณะที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับเงินค่าสินไหมคืน เนื่องจากบริษัทฯ อ้างการล้มละลายไม่มีเงินคืนให้กับผู้บริโภค
ส่วนปัญหาจากการซื้อขายออนไลน์ ได้ประสานความร่วมมือทั้งกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อจัดการแก้ไขปัญหา รวมทั้งยังมีการทำสื่อเผยแพร่เพื่อให้ความรู้และเตือนภัยผู้บริโภค อีกทั้งหน่วยงานประจำจังหวัดรวมถึงองค์กรสมาชิกของสภาองค์กรของผู้บริโภคลงพื้นที่ให้ความรู้ทั้งเรื่องสิทธิผู้บริโภค และการรับมือกับกลโกงออนไลน์เพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทันและมีข้อมูลในการตัดสินใจ นอกจากนี้ยังมีการประสานงานไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินหรือไม่มีเตียงรองรับให้ผู้ป่วยได้รับความช่วยเหลือรวดเร็วขึ้น
ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค