สอบ.ค้าน (ร่าง) ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเสริมสวย เหตุไม่คุ้มครองผู้บริโภค

 

สภาองค์กรของผู้บริโภค คัดค้าน (ร่าง) ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเสริมสวย พ.ศ. …. ชี้ ไม่คำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภค และขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน

จากกรณีที่แพทยสภาได้จัดทำ (ร่าง) ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเสริมสวย พ.ศ. …. และเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะสภานายกพิเศษแพทยสภาลงนามนั้น

 

เมื่อ 20 พ.ค.65 นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคัดค้าน และขอให้ยุติการพิจารณา (ร่าง) ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเสริมสวย พ.ศ. …. ในประเด็น การออกข้อบังคับเพื่อกำกับดูแลการให้บริการทางการแพทย์เกี่ยวกับการเสริมสวย เนื่องจาก (ร่าง) ข้อบังคับฯ ดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมจากองค์กรผู้บริโภคและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งมีข้อกำหนดบางส่วนที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง

โดยประเด็นสำคัญที่ทำให้สภาองค์กรของผู้บริโภคออกมาคัดค้าน และขอให้ยุติการพิจารณาร่างข้อบังคับฉบับดังกล่าว มีทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้

1. การออกข้อบังคับเพื่อกำกับดูแลการให้บริการทางการแพทย์เกี่ยวกับการเสริมสวยมีความสำคัญและอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง แต่กลับขาดการมีส่วนร่วมจากองค์กรของผู้บริโภค และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดังที่ปรากฏว่ามีการยื่นหนังสือคัดค้านของสมาคมศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้าแห่งประเทศไทย รวมทั้งไม่มีกระบวนการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2. เนื้อหาของ (ร่าง) ข้อบังคับฯ เน้นกระบวนการรับรองหลักสูตรการอบรมระยะสั้นที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล โดยไม่ได้มุ่งคุ้มครองผู้บริโภค แต่กลับมุ่งเน้นการสนับสนุนการหารายได้จากการให้บริการเสริมสวยของแพทย์ จึงมีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนสูง และกลายเป็นภาระต่อระบบบริการสาธารณสุข ทั้งนี้ แพทย์ที่ทำหัตถการหรือเป็นแพทย์ศัลกรรมเพื่อเสริมความงามนั้น จำเป็นต้องเรียนรู้ศาสตร์พื้นฐาน เช่น โสต ศอ นาสิก ด้วย จึงควรเป็นบทบาทของสถาบันหรือโรงเรียนแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดทำหลักสูตรและฝึกอบรม ไม่ใช่ให้แพทย์คนใดคนหนึ่งสามารถคิดหลักสูตรและขอรับการรับรองจากแพทยสภา รวมทั้งจัดอบรมเองได้

3. แพทยสภาต้องทำหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานของวิชาชีพเวชกรรม โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ไม่ใช่ทำหน้าที่รับรองหลักสูตรการอบรม

ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค

สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2566 มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา | Copyright © 2023, All rights reserved. Phayao Development Foundation (PDF), Thailand.