สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่น 3 ข้อเสนอ เรียกร้อง กสทช. ชุดใหม่ กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมให้เกิดการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ผู้บริโภค
วันที่ 26 พฤษภาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (โฟกัสกรุ๊ป) รอบที่ 3 ณ อาคารหอประชุม ชั้น 2 สำนักงาน กสทช. โดยสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ยืนยันในเวทีรับฟังความเห็นว่าการควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทอาจกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง และยื่นข้อเสนอให้ กสทช. เปิดเวทีรับฟังข้อเสนอจากองค์กรผู้บริโภค ภาควิชาการ และผู้บริโภค ดำเนินการส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการโทรคมนาคมเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันอำนาจเหนือตลาด รวมทั้งทำความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พิจารณาผลกระทบได้อย่างรอบด้าน
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การประกาศควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคม ระหว่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรูมูฟ เอช อาจทำให้กระทบต่อสภาพการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม และยังส่งผลให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่น้อยลง จนอาจทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัล จึงขอยื่นข้อคิดเห็นต่อและขอเสนอแนะนโยบาย กสทช. 3 ข้อ ดังนี้
ขอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ดำเนินการเปิดเวทีรับฟังข้อเสนอจากองค์กรผู้บริโภค ภาควิชาการ และผู้บริโภค เพื่อหาแนวทางในการกำกับดูแลกรณีดังกล่าว ไม่ให้เกิดอำนาจเหนือตลาดและการผูกขาดทางการค้า ซึ่งส่งผลกระทบและนำไปสู่การเอาเปรียบผู้บริโภค
ขอให้ กสทช. มีมาตรการส่งเสริมและแทรกแซง ให้มีผู้ประกอบการโทรคมนาคมเพิ่มขึ้น ทั้งประเภทที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง และประเภทที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง (MVNO) เพื่อป้องกันอำนาจเหนือตลาด และเพิ่มสภาพการแข่งขัน ทั้งนี้ต้องทำให้มั่นใจได้ว่า เงื่อนไขที่เจ้าของโครงข่ายเป็นผู้กำหนดให้กับผู้เช่าที่เป็นผู้ให้บริการ MVNO นั้นเป็นเงื่อนไขที่เป็นธรรม และเป็นเงื่อนไขที่ผู้เช่าโครงข่ายสามารถประกอบธุรกิจแข่งขันกับผู้ให้เช่าได้จริง
ขอให้ กสทช. ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อพิจารณาผลกระทบในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับแต่ละผู้กำกับกิจการ และพิจารณาผลกระทบในส่วนที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้กำกับกิจการมากกว่าหนึ่งราย เพื่อให้การพิจารณาผลกระทบโดยภาพรวมเป็นไปอย่างรอบด้าน
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับประเด็น ‘การควบรวมกิจการทรู – ดีแทค’ โดยเป็นการรับฟังความเห็นในวงจำกัด ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง ซึ่ง กสทช. ได้ประสานไปยังผู้ขอควบรวมกิจการเพื่อขอความร่วมมือเข้าร่วมประชุมด้วย แต่ผู้ขอควบรวมปฏิเสธที่จะเข้าร่วมโดยให้เหตุผลว่าการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะนี้ ไม่มีความเป็นกลาง อย่างไรก็ตาม กสทช. ยืนยันที่จะจัดการประชุม และนำข้อมูลจากนักวิเคราะห์ของผู้ขอควบรวมที่สามารถเปิดเผยได้มาเป็นข้อมูลประกอบในการประชุม ทั้งนี้ มีข้อมูลบางส่วนที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากผู้ขอควบรวมอ้างว่าเป็นความลับทางการค้า และไม่อนุญาตให้เปิดเผย
“การเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะนี้ เป็นขั้นตอนการพิจารณาทางปกครอง เพื่อนำข้อสรุปเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณา โดยการควบรวมกิจการทรู – ดีแทค นี้ กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลต้องให้การอนุญาตก่อน ขณะนี้ไม่สามารถตอบได้ว่า ควบรวมได้หรือไม่ แต่หากพิจารณาแล้ว สามารถควบรวมได้ จะมีการกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภคในอนาคตต่อไป” นพ.ประวิทย์ กล่าว
ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค