มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เร่งกระทรวงศึกษาธิการออกนโยบายกำกับและจัดสรรให้มีรถรับส่งนักเรียนให้ทุกโรงเรียน เพื่อความปลอดภัย พร้อมควบคุมและบริหารอย่างเป็นระบบรวมทั้งออกมาตรการให้โรงเรียนต้องรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายหากมีนักเรียนได้รับอันตรายจากการใช้บริการ
จากกรณี เด็กนักเรียนเสียชีวิตภายในรถตู้รับส่งนักเรียน ของ ร.ร.ในจังหวัดชลบุรี เมื่อ 30 สิงหาคม 2565
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นข่าวบ่อยๆ เพราะไม่มีระบบหรือไม่มีมาตรการการแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด ซึ่งรถรับส่งนักเรียน ควรมีครูประจำรถเพื่อช่วยดูความปลอดภัยของเด็ก และการตรวจสอบของครูประจำชั้นว่าเด็กเข้าเรียน ครบหรือหากเด็กขาดเรียนควรมีการสอบถามผู้ปกครองในทันที ซึ่งจากเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อย จนทำให้สูญเสียเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติไปเป็นจำนวนมาก และไม่พบว่าจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมารับผิดชอบหรือจัดการปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซากอีกอย่างไร แต่ในขณะเดียวกันผู้ปกครองก็ยังคงต้องพึ่งพารถรับส่งนักเรียน เนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ทั่วถึง หากผู้ปกครองไม่สามารถไปส่งถึงโรงเรียนได้ ทางออก คือ การจัดหารถรับส่งนักเรียนให้ลูกโดยสารไปโรงเรียนแทน แต่ก็กลายเป็นความเสี่ยงใหม่ที่ผู้ปกครองไม่เคยรู้ว่า รถรับส่งนักเรียนที่มารับบุตรหลานไปนั้นส่วนใหญ่ “ไม่ปลอดภัย”
จากข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์รถรับส่งนักเรียนไม่ปลอดภัย โดยศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ชัดว่าในหลายพื้นที่ รถรับส่งนักเรียนถูกดัดแปลงสภาพรถต่อเติมที่นั่ง และเป็นรถที่ไม่ได้ขออนุญาต ขาดอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ควรมีในรถ รวมถึงความประมาทเลินเล่อและพฤติกรรมเสี่ยงของคนขับรถบางคน เช่น ล่วงละเมิดทางเพศ ขับรถเร็ว หรือ ลืมเด็กไว้ในรถ นอกจากนี้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น ครู ผู้ปกครอง นักเรียน หรือคนขับรถรับส่งนักเรียน จำนวนมากยังขาดความเข้าใจ และแรงสนับสนุนองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย จึงขอเสนอให้ ขอให้กระทรวงศึกษาธิการออกนโยบายกำกับและ จัดสรรให้มีรถรับส่งนักเรียนให้ทุกโรงเรียน เพื่อความปลอดภัย และสามารถควบคุมบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ และขอให้กระทรวงศีกษาออกมาตรการให้โรงเรียนต้องรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายหากมีนักเรียนได้รับอันตรายจากการใช้บริการรถรับส่งนักเรียน
นายกิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตรวจสอบข้อกฎหมายจากเหตุการณ์รถรับส่งนักเรียนปล่อยเด็กทิ้งไว้จนเสียชีวิต ถือเป็นการประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท นอกจากผู้ที่กระทำความผิดจะต้องรับโทษทางอาญาแล้ว ผู้กระทำความผิดยังมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในส่วนของค่าเสียหาย หรือค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดทางแพ่งตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. ม.420 ซึ่งผู้เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูตาม ม.1563 (ฎ7119/2541)จากผู้ที่กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้บุตรถึงแก่ความตายได้
ทั้งนี้ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเข้าไปในคดีอาญาได้ โดยไม่จำเป็นต้องยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ และไม่ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมศาลอีกด้วย
ที่มา: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค