มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา
เดิมจัดตั้งใช้ชื่อโครงการพะเยาเพื่อการพัฒนา ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2530 โดยได้รับการรับรองจากจังหวัดพะเยา สมัยผู้ว่าราชการจังหวัด นายสุดจิตร์ คอวนิช ตามหนังสือที่ พย.0015/7915 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2530 อนุมัติให้โครงการพะเยาเพื่อการพัฒนา ดำเนินงานพัฒนาชนบทในจังหวัดพะเยา ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชน (Non government organization – NGO)
การดำเนินงานในระยะแรกของโครงการ (2530 – 2538) มีพื้นที่ปฏิบัติงาน 13 หมู่บ้าน ในเขตอำเภอเมือง 9 หมู่บ้าน และอำเภอแม่ใจ 4 หมู่บ้าน การดำเนินงานในช่วงนี้โครงการได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาท้องถิ่นไทย – แคนาดา (LDAP) จากนั้นปี2533 ได้รวมตัวกับองค์กรพัฒนาเอกชนขนาดเล็กในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอนและเชียงราย รวม 6 องค์กร ภายใต้ชื่อโครงการร่วมพัฒนาชนบทภาคเหนือ (Northnet) และปี2536 สามารถจดทะเบียนเป็นองค์กรนิติบุคคลภายใต้ชื่อ “มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน” (Northnet Foundation) และมีองค์กรสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 8 องค์กร และการดำเนินงานในระยะนี้ โครงการพะเยาเพื่อการพัฒนาได้ปรับ ภารกิจการทำงานขององค์กรไปทำงานด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำกว๊านพะเยา – คอป. (Project for Conservation and Recovery of Phayao Reservoir s Watershed Forests) โดยการประสานความร่วมมือกับโครงการส่งเสริมเกษตรกรรมทางเลือก รวมทั้งจัดทำโครงการฟื้นฟูกว๊านพะเยา (Kwan Phayao Recovery Program) โดยมีเป้าหมายเพื่อการฟื้นฟูระบบนิเวศของกว๊านพะเยา โครงการนี้ทำงานกับชุมชนทั้งในเมืองและชนบทรอบกว๊านพะเยา จำนวน 13 ชุมชน โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายชาวประมงในกว๊านพะเยา โรงเรียนรอบกว๊านพะเยา และชุมชนในเขตเมืองพะเยารวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
จนถึง ปี 2542 โครงการพะเยาลาออกจาก มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน ขยายพื้นที่ทำงานครอบคลุมลุ่มน้ำอิง ลุ่มน้ำลาว – ยวน ในอำเภอเชียงคำ และชุมชนชาวประมงอำเภอเทิงไปสิ้นสุดที่ปากน้ำอิง อำเภอเชียงของ จนกระทั่งในปี 2548 ร่วมกับสถาบันพัฒนาชุมชนเข้มแข็งและโครงการส่งเสริมเกษตรกรรมทางเลือก จดทะเบียนเป็นมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา (Phayao for Development Foundation – PDF) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2548 และขยายการทำงานครอบคลุมในประเด็นสุขภาพ ด้านเอดส์ ผู้หญิง เกษตรกรรมทางเลือก และงานสิทธิผู้บริโภคจนถึงปัจจุบันนี้
วัตถุประสงค์มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา
- สนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนมีการศึกษา เกิดจิตสำนึกและมีศักยภาพในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค การพัฒนาสถาบันครอบครัว รวมทั้งฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
- ส่งเสริมและพัฒนาสื่อสาธารณะเพื่อรณรงค์การมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรชุมชนให้มีความเข้มแข็งเพื่อพัฒนาท้องถิ่น
- ให้ความช่วยเหลือ และสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น