สภาองค์กรของผู้บริโภค คัดค้านแก้ไขร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตรฯ ชี้ กระทบผู้บริโภคเข้าถึงยาจำเป็นยากขึ้น
จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทำจดหมายถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตร (ฉบับที่…) พ.ศ. …. เมื่อ 30 มีนาคม 2565 นั้น
เมื่อ 6 พ.ค. 65 นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ส่งหนังสือคัดค้านการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ถึงเลขาธิการคณะนายกรัฐมนตรี ในประเด็น ‘การแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing)’ โดยมองว่า หากมีการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรทำได้ยากยิ่งขึ้น อีกทั้งจะส่งผลกระทบกับประชาชนในการการเข้าถึงยาที่จำเป็นด้วย
จากหนังสือคัดค้านข้างต้น สรุปประเด็นสำคัญที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ให้ความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ได้ดังต่อไปนี้
1. การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรเพื่อการนำเข้าและการผลิตภายในประเทศและเพื่อการส่งออก ที่กำหนดให้การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร โดยกระทรวง ทบวง กรม ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เป็นการสร้างเงื่อนไขและเป็นอุปสรรคเพิ่มมากขึ้น จะทำให้การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้นหรืออาจเป็นไปไม่ได้อีกเลยในอนาคต
2. ไม่เท่าทันสถานการณ์และขาดการมองการณ์ไกล และจะกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถนำมาตรการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีในอนาคต เมื่อเกิดภาวะวิกฤตร้ายแรงด้านสุขภาพขึ้นอีก เช่น การระบาดของโควิด19 ที่มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรควรจะครอบคลุมทั้งสิทธิบัตรและคำขอรับสิทธิบัตรที่ประกาศโฆษณาแล้วและที่ยังไม่ประกาศโฆษณา และครอบคลุมถึงสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีของสิ่งประดิษฐ์นั้น
เช่น วัตถุดิบหรือสารตัวยาสำคัญในการผลิตยา ฯลฯ เพื่อขจัดอุปสรรคในกรณีที่สิ่งประดิษฐ์หรือยานั้นยังไม่ได้รับสิทธิบัตรและได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้แล้ว เพราะการคุ้มครองสิทธิบัตรจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ยื่นขอรับสิทธิบัตร และไม่จำกัดเฉพาะยาสำเร็จรูป แต่รวมไปถึงสารตัวยาสำคัญเพื่อนำมาผลิตเป็นยาสำเร็จรูป
3. การแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ขัดกับปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุขขององค์การการค้าโลก ที่ได้รับการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลกเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2544 และประเทศไทยได้เป็นสมาชิก ความในวรรค 4 ของปฏิญญาโดฮามีเจตจำนงที่ชัดเจน เพื่อคุ้มครองสุขภาพและการเข้าถึงยาของประชาชนและให้ความสำคัญกับการสาธารณสุขมากกว่าการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
4. จากสถานการณ์โควิด 19 ที่เป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขของโลกและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง ทำให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในหลายประเทศขาดแคลนยาและวัคซีน รวมไปถึงสิ่งจำเป็นสำหรับการตรวจวินิจฉัย การป้องกัน และการรักษา
ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตร (ฉบับที่…) พ.ศ. …. ที่กำลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร และมีข้อเสนอสำคัญให้แก้ไข ดังนี้
1. ตัดข้อความ “โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี” ออกจากมาตรา 51 และ 51/2
2. เพิ่มข้อความ “ทั้งนี้ การใช้สิทธิตามมาตรานี้ให้รวมถึงคำขอรับสิทธิบัตรที่ประกาศโฆษณาแล้วและที่ยังไม่ประกาศโฆษณา” ในมาตรา 51
และ 3. เพิ่มข้อความ “สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีของสิ่งประดิษฐ์นั้น” ในมาตรา 51
ทั้งนี้ ตามอำนาจหน้าที่ใน พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนดให้สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นตัวแทนผู้บริโภค มีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค รวมทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค