แพทยสภา ระบุว่า ขณะนี้ได้ยุติ (ร่าง) ข้อบังคับเสริมความงาม ที่เน้นรับรองหลักสูตรระยะสั้นต่ำกว่ามาตรฐานแล้ว ย้ำเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
จากกรณีที่แพทยสภาจัดทำ (ร่าง) ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเสริมสวย พ.ศ. …. ที่มีเนื้อหาเน้นรับรองหลักสูตรเสริมความงามระยะสั้น 3 เดือน และเปิดโอกาสให้มีการอบรมแพทย์ตามหลักสูตรเสริมความงามในคลินิกเสริมสวย ที่ถูกวิจารณ์ว่า ‘ต่ำกว่ามาตรฐานสากล’ ขณะที่สภาองค์กรของผู้บริโภคมีความคิดเห็นว่าผู้ให้บริการเสริมสวยต้องเป็นแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคนั้น
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า จากการที่สภาองค์กรของผู้บริโภคและภาคประชาชนหลายส่วน รวมถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้ออกมาเรียกร้องและคัดค้าน (ร่าง) พ.ร.บ. เสริมสวย ของแพทยสภา อย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะทำงานเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้แจ้งกลับมายังสภาองค์กรของผู้บริโภคว่า “แพทยสภาไม่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับ (ร่าง) ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเสริมสวย พ.ศ. …. แล้ว”
และระบุอีกว่า การดำเนินการเกี่ยวกับหลักสูตรอบรมใด ๆ นั้น แพทยสภาจะพิจารณาเพื่อความเหมาะสม ตระหนักถึงความสำคัญ และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 เพื่อควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนให้รัดกุมยิ่งขึ้น
ก่อนหน้านี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคมีข้อกังวลใจต่อการออก (ร่าง) ข้อบังคับฯ เพื่อกำกับดูแลการให้บริการทางการแพทย์เกี่ยวกับการเสริมสวยฯ ฉบับดังกล่าว จึงส่งหนังสือคัดค้านไปยังนายกแพทยสภาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงจัดแถลงข่าว ‘หลักสูตรศัลยกรรมเสริมความงามห้องแถว ไม่ใช่หน้าที่แพทยสภา’ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
เนื่องจากเห็นว่า (ร่าง) ข้อบังคับฯ ฉบับนี้ขาดองค์ประกอบที่ครบถ้วนจากกรรมการแพทยสภาที่เห็นด้วย และขาดความคิดเห็นจากแพทย์ศัลยกรรมตกแต่งเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ได้แก่ ใบหน้า โสต คอ นาสิก เปลือกตา ฯลฯ และยังขาดองค์ประกอบจากองค์กรของผู้บริโภค ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและในฐานะผู้แทนผู้บริโภคตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังเห็นว่าข้อกำหนดบางประการไม่ได้คำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นเรื่องมาตรฐานแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมเสริมสวยของประเทศ
ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค