สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นหนังสือต่อกสทช. ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรักษาการเลขาธิการ กสทช. ในประเด็นการแต่งตั้งที่ปรึกษา และประเด็นให้ข่าวเท็จเรื่องการตีความของกฤษฎีกา เกี่ยวกับอำนาจ กสทช. ในการพิจารณากรณีควบรวมทรู – ดีแทค
จากกรณีที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นคำขอควบรวมธุรกิจต่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2564 และ กสทช. ได้ทำหนังสือไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ให้พิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจดังกล่าวถึง 2 ครั้ง รวมทั้งมีการแต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระ เพื่อพิจารณาให้ความเห็น หรือจัดทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการ กสทช. ตามกฎหมาย นั้น
เมื่อ 23 กันยายน 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค นำโดยบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค และสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค เดินทางไปที่ สำนักงาน กสชท. เพื่อยื่นหนังสือต่อ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ให้ตรวจสอบการทำงานของ ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. ในประเด็นการแต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระที่อาจไม่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง* และประเด็นการนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชนเกี่ยวกับการตีความของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสนต่อผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยมี พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธาน กสทช. เป็นผู้รับหนังสือแทน
บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ติดตามการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. มาโดยตลอด และสังเกตได้ถึงความผิดปกติในการดำเนินงานของรักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในประเด็นการแต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระ เนื่องจากมีผู้บริหารระดับสูงของ ทรู เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ กสทช. แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษากรณีการควบรวมทรู – ดีแทค
บุญยืน กล่าวอีกว่า ‘คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง True กับ Dtac และการค้าปลีก – ค้าส่ง สภาผู้แทนราษฎร’ เคยมีข้อเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาให้ชะลอการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท True และบริษัท Dtac ต่อนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า คุณสมบัติของที่ปรึกษาอิสระนั้นอาจไม่มีความเป็นอิสระจริง รวมทั้งอาจขัดต่อหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกกรรมการอิสระที่ กสทช. ได้มีการกำหนดไว้เองด้วย
นอกจากนี้ เอกชัย ไชยนุวัติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ที่ได้ยื่นหนังสือเรื่อง ‘การขาดคุณสมบัติและความไม่สมบูรณ์ของความเห็นของที่ปรึกษาอิสระ (บริษัท หลักทรัพย์ฟินันซ่า จำกัด)’ กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรูกับดีแทค ต่อคณะกรรมการ กสทช. ด้วยเช่นกัน และที่ประเด็นสำคัญที่สุด คือ การแต่งตั้งที่ปรึกษาในครั้งนี้ ขัดต่อประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม อย่างชัดเจน
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้สภาองค์กรของผู้บริโภคยื่นหนังสือให้ตรวจสอบรักษาการเลขาธิการ กสทช. คือเรื่องการนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชน กรณีสำนักงาน กสทช. ได้รับหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่อง อำนาจดำเนินการของกสทช. ในการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรู และดีแทคโดยมีการเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอำนาจการพิจารณาการควบรวมว่า กสทช. ไม่มีอำนาจอนุญาตการรวมธุรกิจ มีเพียงอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ
สารี ระบุว่า ในการออกข่าวประเด็นที่บิดเบือนดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของประเด็นข่าวที่เป็นที่จับตาของสังคม ก่อให้เกิดความสับสนต่อผู้บริโภคทั่วประเทศ ที่มีความคาดหวังต่อการทำหน้าที่ของ กสทช. แต่จากข้อเท็จจริง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความในทางตรงกันข้ามว่า กสทช. มีอำนาจอนุญาตในกรณีการรวมธุรกิจที่มีลักษณะเป็นการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน อย่างไรก็ตาม จากนั้น เลขาธิการ กสทช. ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ให้ข่าวดังกล่าว สื่อมวลชนเขียนข่าวขึ้นเอง
“สภาองค์กรของผู้บริโภค พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินงานของรักษาการเลขาธิการ กสทช. เป็นไปในลักษณะชี้นำไปในทางที่ทำให้เกิดการควบรวม และไม่มีความเป็นกลางในฐานะเลขาธิการฯ ซึ่งเป็นเลขานุการของที่ประชุม กสทช. จึงขอให้พิจารณาสอบสวนการทำหน้าที่ของ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. และสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรวมธุรกิจดังกล่าว จนกว่าผลการสอบสวนจะได้ข้อยุติ” เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าว
ทั้งนี้ เลขานุการประจำประธาน ระบุว่าหลังจากนี้จะรวบรวมข้อมูลและให้คณะกรรมการ กสทช. พิจารณาต่อไป
โปรดติดตาม “โปรโมชั่นเด็ดๆ” ที่สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดให้ กสทช. ในการปฏิบัติหน้าที่ที่สร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภค ต่อไป
*ตามประกาศปี 2561 ของ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลรวมธุรกิจในกิจการ บัญญัติให้ เลขาธิการ กสทช. แต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระ ในการจัดทำความเห็นประกอบการรายงานการรวมธุรกิจ โดยที่ปรึกษาอิสระต้องมีความเป็นอิสระ ไม่มีความเกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสียกับผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับใบอนุญาตรายอื่นที่รวมธุรกิจกับผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตดังกล่าว และไม่ได้ถูกถือหุ้นโดยผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาต หรือ บริษัทในกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต หรือบริษัทในเครือของผู้รับใบอนุญาต หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งกับ ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาต
ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค