ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคประชาชน จังหวัดเชียงใหม่ ชี้เป้าให้สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) ทลายแหล่งผลิตยาน้ำสมุนไพร ยากษัยเส้น ตราปู่แดง หลังลงพื้นที่สำรวจพบผสมสารสเตียรอยด์เกินขนาด อวดอ้างสรรพคุณบำรุงร่างกาย หากดื่มนานอาจถึงตาย
ตามที่ได้มีการนำเผยแพร่ข่าวทลายแหล่งผลิตยาน้ำสมุนไพรเถื่อนผสมสเตียรอยด์และผู้ขายยาสเตียรอยด์เถื่อน จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดชลบุรี ช่วงมีนาคมที่ผ่านมานั้น เป็นผลงานคุ้มครองผู้บริโภคชิ้นโบว์แดงของแกนนำองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่สำรวจชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพอันตรายและโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฏหมายในชุมชนแบบบูรณาการ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งโครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนโดยหน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ สภาองค์กรของผู้บริโภค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้อบรมให้ความรู้กับเครือข่ายองค์กรคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคประชาชน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์อันตรายและอบรมการลงสำรวจพื้นที่
โดยจากการดำเนินงานแนวรุกในการคุ้มครองผู้บริโภค แกนนำองค์กรผู้บริโภคได้พบปัญหาการแพร่ระบาดของผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพร ยากษัยเส้นปู่แดง และผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพร ยากษัยเส้นปู่แดง ที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณลดอาการปวดทุกชนิด ที่เกิดผลกระทบด้านสุขภาพต่อผู้บริโภคที่เกิดอาการร่างกายบวมหลังบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ที่อาจจะเกิดจากการผสมสารอันตราย จึงประสานไปยัง หน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ สภาองค์กรของผู้บริโภค โดยเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน รจนา ยี่บัว ได้ติดตามตรวจสอบและพบว่ามีผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มน้ำสมุนไพร ยากษัยเส้นปู่แดง ในพื้นที่ อำเภอสันป่าตอง และ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่โดยผู้บริโภคที่สันป่าตองสองรายมีอาการหน้าตา และลำตัว แขน ขา อาการบวม หลังจากดื่มน้ำสมุนไพรเถื่อนยากษัยเส้นปู่แดง สูตรเข้มข้นx2 Extra จำนวน 3 ขวด จึงได้มีการเก็บตัวอย่างที่ยังอยู่ในภาชนะปิดสนิทเพื่อทำการทดสอบ และพบสาร เดกซาเมทาโซน ซึ่งเป็นสเตียรอยด์ที่ลดอาการปวด และ การตอบสนองต่อการอักเสบ ซึ่งสารนี้อาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ และจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น ส่วนที่อำเภอดอยหล่อ พบผู้บริโภคมีผลิตภัณฑ์ปู่แดง 2 ราย แต่ยังไม่ได้บริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จึงได้นำส่งห้องทดสอบและพบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์เช่นกัน
จากนั้นศูนย์คุ้มครองสิทธิ์ได้นำเรื่องการพบสารสเตียรอยด์ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ส่งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เพื่อตรวจสอบ พร้อมกับจัดทำข่าวเตือนภัยเร่งด่วน และแจ้งข้อมูลให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) ให้ดำเนินการต่อ ซึ่งต่อมา ช่วงปลายเดือนมีนาคม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกแถลงข่าวร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) เข้าทลายแหล่งผลิตได้สำเร็จ จากการสืบค้น พบว่ามีการลักลอบผลิตตามบ้านและโกดังในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ส่งทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก ซึ่งในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) และ เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ได้นำหมายศาลจังหวัดขอนแก่น เข้าตรวจค้นสถานที่ผลิตและเก็บผลิตภัณฑ์สมุนไพรผิดกฎหมายในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และยึดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้สำเร็จ
การผลิต ผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าว ละเมิดกฏหมายสองฉบับคือ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดว่า “ผลิตและจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ เป็นอาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ด้วย” มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ “ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ สภาองค์กรของผู้บริโภค มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการตื่นตัวในการคุ้มครองผู้บริโภคภาคเหนือ มีหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาความเข้มแข็งให้ กับ ภาคประชาชนในฐานะผู้บริโภคให้รู้เท่าทัน เข้าถึงสิทธิ ปกป้องสิทธิ ร้องเรียนสิทธิของตัวเองหากถูกละเมิด ให้เข้าถึงข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวข้องงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ถูกต้อง และพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้และเข้าใจปัญหาและเห็นผลกระทบในด้านต่าง ๆ ของผู้บริโภคให้ชัดเจน ผู้บริโภคในพื้นที่ภาคเหนือที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้า และบริการ สามารถส่งเรื่องร้องเรียนมาได้ที่ หน่วยประจำจังหวัดเชียงใหม่ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ที่ เลขที่ 111 หมู่ 5 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50100 โทรศัพท์ : 089 633 1638 แฟกซ์ 053 447 57
ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค