สภาองค์กรของผู้บริโภค หน่วยประจำจังหวัดลำพูน จับมือหน่วยงานภาครัฐ – สื่อมวลชน ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่

 

เมื่อ 8 เม.ย.65 ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำพูน จัดเวทีเสวนา “การพัฒนาความร่วมมือเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ระหว่างสภาองค์กรของผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐ สื่อมวลชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” โดยมีการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคที่เกิดขึ้น ทั้งในภาพรวมและในจังหวัดลำพูน โดยตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ ได้เล่าถึงบทบาทในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งทำให้เห็นถึงข้อแตกต่างในหน้าที่การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของแต่ละองค์กร รวมถึงเห็นจุดเชื่อมต่อที่แต่ละองค์กรจะสามารถทำงานร่วมกันเพื่อจัดการปัญหาและดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค

โดยช่วงต้นเวทีเสวนา คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ผ่านมา ทั้งระบุว่ายังมีประเด็นปัญหาที่ต้องแก้ไขและผลักดันอีกมาก เช่น บำนาญประชาชน ความปลอดภัยในโลกออนไลน์ รวมไปถึงปัญหาขยะพลาสติกที่เกี่ยวโยงไปถึงเรื่องภาวะโลกร้อน ซึ่งถือเป็นความท้าทายขององค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ได้อย่างไร

 

คุณบุพพัณห์ คำทิตา รองประธานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำพูน และหน่วยงานประจำจังหวัดลำพูน ระบุว่าศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำพูน ทำงานสอดคล้องกับสภาองค์กรของผู้บริโภค ในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับจังหวัด โดยมีเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่กว่า 20 องค์กร ช่วยกันทำงานตรวจสอบ เฝ้าระวัง รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภคด้านต่าง ๆ ทั้งยังทำงานเชื่อมต่อกับอีกหลายองค์กรในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุขจังหวัด

 

ด้าน คุณจรูญ คำปันนา นายกเทศมนตรีตำบลศรีบัวบาน กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาผู้บริโภคที่ส่งผลกระทบมีหลากหลายมาก ทั้งปัญหายาชุด การรักษาพยาบาล ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่กำลังระบาดไปทั่วประเทศ ดังนั้นการมีองค์กรที่เข้ามาทำงานในเรื่องนี้โดยเฉพาะจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี โดยคุณจรูญยืนยันว่า อปท. จะทำงานประสานกับสภาองค์กรของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ ทั้งนี้การจะแก้ปัญหาผู้บริโภคได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากสื่อมวลชนในพื้นที่ ช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้บริโภค และต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ๆ เช่น สภาทนายความ สำนักอัยการ สสจ. ด้วย

 

ทางด้าน คุณวัฒณีย์ จรูญพันธ์นิธิ อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิฯ จังหวัดลำพูน กล่าวถึงการทำงานของสำนักงานอัยการจังหวัดลำพูนว่า สำนักงานอัยการทำหน้าที่ช่วยเหลือแนะนำด้านหมายให้แก่ประชาชนที่เข้ามาร้องเรียน และส่งต่อเรื่องหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนั้น ๆ เช่น สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัด นอกจากเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยเหลือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายในด้านอื่น ๆ ด้วย

 

ด้าน คุณอินทริยา อินทพันธุ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำพูน ระบุว่า สาธารณสุขจังหวัดลำพูนทำงานร่วมกับหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคมาเป็นระยะเวลาหลายปี ในการเฝ้าระวังปัญหาเกี่ยวกับอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมไปถึงการจัดการปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในพื้นที่และน่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ คือ ปัญหาโฆษณาออนไลน์ซึ่งจัดการได้ยาก และภูมิภาคไม่มีกำลังพอในการจัดการเนื่องจากต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก

“นอกจากการทำงานร่วมกับองค์กรผู้บริโภคแล้ว การร้องเรียนจากผู้บริโภคถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยเฝ้าระวังปัญหาได้เช่นกัน ดังนั้น หากผู้บริโภคถูกเอาเปรียบหรือพบเจอสินค้าบริการที่ไม่ปลอดภัย อยากให้ร้องเรียนเข้ามาที่ สสจ. หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปได้อย่างราบรื่น” คุณอินทริยา กล่าว

 

ด้าน คุณพัสกร นันทวิชัย นายกสมาคมผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนจังหวัดลำพูน เล่าว่า จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา พบว่าสื่อมีอิทธิพลมากในการเตือนภัยประชาชน และส่งเสียงไปยังหน่วยงานว่ามีสิ่งที่เป็นอันตรายหรือส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเกิดขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแก้ไข ยกตัวอย่างครั้งหนึ่งที่หน่วยงานติดป้ายบอกทางถนนผิดพลาด นักข่าวทำข่าวลงสื่อออนไลน์ หลังจากนั้นไม่นานก็ได้รับการติดต่อจากหน่วยงาน และดำเนินการแก้ไขเสร็จภายในวันนั้นเลย

 

ด้าน คุณลิขิต อินทวงษ์ กรรมการเผยแพร่กฎหมาย สำนักงานสภาทนายความ จังหวัดลำพูน กล่าวว่า กฎหมายเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจ แต่อย่างน้อยสิ่งที่ผู้บริโภคควรทราบคือสิทธิพื้นฐานที่มีตามกฎหมาย เพื่อให้สามารถปกป้องสิทธิของตัวเองได้ เช่น ถ้าซื้อสินค้าแล้วพบว่าชำรุดเสียหายหรือหมดอายุ เราสามารถเปลี่ยนคืนสินค้าได้ และร้านค้าไม่สามารถตั้งเงื่อนไขว่าห้ามเปลี่ยนคืนสินค้าด้วย

การแลกเปลี่ยนและเสียงสะท้อนจากเวทีดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าปัญหาผู้บริโภคต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นปัญหาในระดับโครงสร้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนไปถ้าประชาชนไม่ตื่นตัว สิ่งที่เราได้รับวันนี้คือความร่วมมือและช่องทางในการร้องเรียน ควรเสริมความรู้ให้กับเยาวชนในพื้นที่ สื่อก็ต้องเผยแพร่ อีกอันหนึ่งต้องเชื่อมกับท้องถิ่นแต่ละแห่งให้ชัดเจน ซึ่งจะสามารถคลี่คลายความทุกข์ของประชาชนได้

ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมเสวนาเห็นไปในทางเดียวกัน คือ การแก้ปัญหาผู้บริโภคนั้นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน รวมถึงสื่อมวลชน เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม

ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค

สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2566 มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา | Copyright © 2023, All rights reserved. Phayao Development Foundation (PDF), Thailand.